วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556


 เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลในการวิจัยทางการศึกษานั้นแบ่งได้เป็น 5   ประเภท ใหญ่ ๆ ดังนี้

     
1. แบบทดสอบ (Test) การรวบรวมข้อมูลในการวิจัยทางการศึกษา หรือสังคมศาสตร์
       ในบางครั้งต้องอาศัยแบบทดสอบเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูล แบบทดสอบเป็นชุดของคำถามที่ให้ผู้เข้าสอบเป็นผู้ตอบ รูปแบบการทดสอบอาจเป็นการเขียน การพูด หรือการแสดง
พฤติกรรมต่าง ๆ ที่สามารถวัดได้และนำไปวิเคราะห์ ข้อมูลที่วัดโดยใช้แบบทดสอบมีทั้งข้อมูลด้านความรู้ ความเข้าใจ (Cognitive domain) ด้านความรู้สึก (affective domain) และด้านทักษะ (psychomotor domain) แบบทดสอบแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายแบบแล้วแต่เกณฑ์ที่ใช้แบ่งดังนี้
     ก. แบ่งตามลักษณะการสร้าง แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
        ก.1 แบบทดสอบที่ผู้วิจัยสร้างเอง หรือแบบทดสอบที่ครูสร้างเอง (Teacher made Test)
เป็นแบบทดสอบที่ผู้วิจัยดำเนินการสร้างด้วยตนเองตามวัตถุประสงค์ของการสอบ ซึ่งกระบวนการในการสร้างนั้น จะต้องมีการนำแบบทดสอบที่สร้างขึ้นไปทดลอง ใช้แล้วนำมาวิเคราะห์คุณภาพของแบบทดสอบแล้วนำมาแก้ไขปรับปรุงให้เป็นแบบทดสอบที่มีคุณภาพก่อนที่จะนำไปใช้จริง ซึ่งแบบทดสอบที่มีคุณภาพนั้นควรจะเป็นแบบทดสอบที่มีอำนาจจำแนกสูง ความยากปานกลาง
มีความเที่ยง (Reliability) และ ความตรง (Validity) สูง
        ก.2 แบบทดสอบมาตรฐาน (Standardized Test) เป็นแบบทดสอบที่ได้รับการพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพจนเป็นที่เชื่อถือได้ และเมื่อมีการนำแบบทดสอบมาตรฐานไปใช้ ไม่ว่าใครจะเป็น ผู้คุมสอบหรือตรวจให้คะแนนก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้จะใกล้เคียงกัน หรือมีความเป็นปรนัย (Objectivity) โดยในแบบทดสอบมาตรฐานนั้นจะระบุถึงวิธีการทำข้อสอบ และตรวจข้อสอบอย่างชัดเจนนอกจากนั้นยังระบุ ปกติวิสัย (Norm) ค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน ค่าเปอร์เซนต์ไทล์ คะแนนมาตรฐานของกลุ่มประชากรที่ทำแบบทดสอบก็ได้ และยังระบุ ค่าความเที่ยง (Reliability) และความตรง (Validity) ของแบบทดสอบอีกด้วย
     ข. แบ่งตามลักษณะการใช้ แบ่งได้ดังนี้
        ข.1 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Achievement Test) เป็นแบบทดสอบที่ใช้วัดระดับความสามารถของผู้เรียนว่ามีความรู้ ความสามารถและทักษะในเนื้อหาวิชาที่เรียนไปแล้วมากน้อยเพียงใด
        ข.2 แบบทดสอบวัดความพร้อม (Readiness Test) เป็นข้อสอบที่ใช้วัดความพร้อมของผู้สอบว่ามีความพร้อมที่จะเรียนหรือไม่ เช่น แบบทดสอบวัดความพร้อมก่อนที่จะเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
        ข.3 แบบทดสอบวินิจฉัยข้อบกพร่อง (Diagnostic Test) เป็นแบบทดสอบที่ใช้ตรวจสอบข้อบกพร่อง หรือจุดด้อยในการเรียนของแต่ละเนื้อหาเพื่อตรวจสอบว่าผู้เรียนยังไม่เข้าใจในเนื้อหาวิชาส่วนใดบ้าง แบบทดสอบชนิดนี้มีประโยชน์ในการปรับปรุงการเรียนการสอน
        ข.4 แบบทดสอบวัดเชาวน์ปัญญา (Intelligence Test) เป็นแบบทดสอบที่ใช้วัดความสามารถในการคิดอย่างนามธรรม ความสามารถในการเรียนรู้ รวมทั้งความสามารถในการรวบรวมประสบการณ์ต่าง ๆ มาปรับใช้กับสถานการณ์ใหม่ ๆ แบบทดสอบวัดเชาวน์ปัญญานั้นใช้ในการประมาณระดับเชาวน์ปัญญาโดยทั่ว ๆ ไป โดยวัดความสามารถในด้านต่าง ๆ เช่น การรู้คำจำกัดความ หรือความหมายต่าง ๆ ของคำ การแก้ปัญหาด้านคณิตศาสตร์ ความรู้ทั่วไป ความจำระยะสั้นเกี่ยวกับตัวเลขต่าง ๆ การให้เหตุผลเป็นต้น
        ข.5 แบบทดสอบวัดความถนัด (Aptitude Test) เป็นแบบทดสอบที่วัดศักยภาพใน การเรียน (capacity to learn) ใช้ในการพยากรณ์พฤติกรรม หรือความสามารถเฉพาะที่จะเกิดขึ้น
ภายหลัง ความแตกต่างระหว่างแบบทดสอบวัดเชาวน์ปัญญากับแบบทดสอบวัดความถนัดคือ
แบบทดสอบวัดเชาวน์ปัญญานั้นจะวัดความสามารถทั่ว ๆ ไป แต่แบบทดสอบวัดความถนัดจะวัดความสามารถเฉพาะด้านความแตกต่างระหว่างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกับแบบทดสอบวัดความถนัดก็คือ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะวัดความรู้ความสามารถ หรือทักษะในปัจจุบันซึ่งเป็นผลจากการเรียนที่ผ่านมาในอดีต แต่แบบทดสอบวัดความถนัดนั้นมุ่งที่จะทำนายความสามารถในอนาคต
        ข.6 แบบสำรวจบุคลิกภาพ (Personality Inventories) เป็นแบบทดสอบที่ใช้วัดความต้องการ การปรับตัว และค่านิยมต่าง ๆ ของนักเรียน เพื่อจะได้หาทางช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาหรือความต้องการในการปรับตัวในการเรียน
        ข.7 แบบสำรวจความสนใจด้านอาชีพ (Vocational Interest Inventories) เป็นแบบทดสอบที่ใช้สำรวจความสนใจในอาชีพต่าง ๆ ซึ่งจะให้ผู้ตอบระบุถึงความสนใจในสิ่งต่าง ๆ เช่น กีฬา งานอดิเรก หนังสือและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของตน
    
      2. แบบสอบถาม (Questionnaires) ป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการรวบรวมข้อมูลในการวิจัยเชิงสำรวจ ในกรณีที่กลุ่มตัวอย่างหรือกลุ่มประชากรที่จะรวบรวมข้อมูลนั้นอยู่ในลักษณะที่กระจัดกระจายกันมาก ๆ ประกอบกับผู้วิจัยมีงบประมาณและเวลาในการวิจัยค่อนข้างจำกัด ซึ่งประกอบด้วยชุดของคำถามที่ต้องการให้กลุ่มตัวอย่างตอบ โดยกาเครื่องหมายหรือเขียนตอบ หรือกรณีที่กลุ่มตัวอย่างอ่านหนังสือไม่ได้หรืออ่านได้ยาก อาจใช้วิธีสัมภาษณ์ตามแบบสอบถาม นิยมถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริง และความคิดเห็นที่ไม่ซับซ้อนของบุคคล
โครงสร้างของแบบสอบถาม โดยทั่วไปแบบสอบถามจะมีโครงสร้างหรือส่วนประกอบ 3 ส่วน ดังนี้
     1. คำชี้แจงในการตอบ ที่ปกของแบบสอบถามจะเป็นคำชี้แจง ซึ่งมักจะระบุถึงจุดประสงค์ในการให้ตอบแบบสอบถาม หรือจุดมุ่งหมายของการทำวิจัย อธิบายลักษณะของแบบสอบถาม วิธีการตอบแบบสอบถามพร้อมตัวอย่าง
     2. สถานภาพส่วนตัวผู้ตอบ ส่วนที่ 2 ของแบบสอบถามมักจะให้ตอบเกี่ยวกับรายละเอียดส่วนตัว เช่น เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ แล้วแต่กรณี
     3. ข้อคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและความคิดเห็น ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ได้ข้อมูล รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการศึกษา
แบบสอบถามจำแนกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
        2.1 แบบสอบถามแบบปลายเปิด (Open ended questionnaires) เป็นคำถามที่ไม่ได้กำหนดคำตอบไว้ให้เลือก แต่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบแบบสอบถามตอบโดยใช้คำพูดของตนเอง คำถามแบบปลายเปิดนี้จะเสียเวลาในการตอบมาก และสรุปผลการวิจัยได้ยาก ถ้าใช้ควบคู่กับแบบอื่น ๆ แล้ว ผู้ตอบส่วนใหญ่มักไม่ตอบแบบปลายเปิด หรือตอบเพียงเล็กน้อย ในการสร้างแบบสอบถามครั้งแรก ผู้วิจัยอาจสร้างแบบปลายเปิดแล้วนำไปทดลองใช้เพื่อจะได้คำตอบต่าง ๆ ซึ่งจะนำมาสร้างเป็นแบบปลายปิดในภายหลัง
        2.2 แบบสอบถามแบบปลายปิด (Close ended questionnaire) เป็นคำถามที่มีคำตอบให้ ผู้ตอบเขียนเครื่องหมาย / ลงหน้าข้อความหรือในช่องที่ตรงกับความเป็นจริง หรือความคิดเห็นของตนซึ่งแบบสอบถามแบบปลายปิดมีหลายรูปแบบ ได้แก่
           2.2.1 แบบให้เลือกตอบตัวเลือกที่ตรงกับความเป็นจริง หรือความคิดเห็นของตนเพียงคำตอบเดียวจาก 2 คำตอบ ดังตัวอย่าง
ส่วนบนของฟอร์ม
ส่วนล่างของฟอร์ม
                การคุมกำเนิดขัดต่อพุทธศาสนาหรือไม่     ขัด    ไม่ขัด
                ท่านเห็นว่าเด็กหญิงควรเรียนวิชาฟุตบอลหรือไม่         ควร     ไม่ควร
               ปกติท่านสอนให้บุตรหลานของท่านทำงานบ้านหรือไม่    สอน     ไม่สอน

   
      2.2.2 แบบให้เลือกคำตอบที่ตรงกับความเป็นจริงหรือความคิดเห็นของตนเพียงคำตอบเดียวจากหลายคำตอบ (มากกว่า 2 คำตอบ) ดังตัวอย่าง
ส่วนบนของฟอร์ม
                 ท่านชอบรายการโทรทัศน์ ประเภทใดมากที่สุด
                 ดนตรี
                 เกมโชว์
                 ข่าว
                 ละครโทรทัศน์หลังข่าว
                 ภาพยนต์เรื่องยาว
ส่วนล่างของฟอร์ม
           2.2.3 แบบให้เลือกคำตอบที่ตรงกับความเป็นจริง หรือความคิดเห็นของตนได้
หลายคำตอบดังตัวอย่างท่านเคยได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์จากที่ใดบ้าง (ตอบได้หลายคำตอบตามความเป็นจริง)
ส่วนบนของฟอร์ม
                บิดา - มารดา          วารสาร หนังสือ ตำราต่าง ๆ
                วิทยุ                   ครู-อาจารย์
                โทรทัศน์ เพื่อน
                หนังสือพิมพ์
ส่วนล่างของฟอร์ม
        แบบมาตราส่วนประมาณค่า(Rating Scale) โดยให้ผู้ตอบเลือกตอบตามระดับความคิดเห็นของตน ดังตัวอย่าง
         อาจารย์ที่สอนในระดับปริญญาตรีควรมีวุฒิไม่ต่ำ กว่าปริญญาโท
         เห็นด้วยอย่างยิ่     เห็นด้วย     ไม่แน่ใ     ไม่เห็ว     ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

      ลักษณะของคำถามแบบนี้อาจจัดให้อยู่ในรูปของตารางก็ได้
รายการ
เห็นด้วยอย่างยิ่ง
เห็นด้วย
ไม่แน่ใจ
ไม่เห็นด้วย
ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
 1. อาจารย์ที่สอนในระดับปริญญาตรี ควรมีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาโท





     
       3. แบบวัดเจตคติ (Attitude Scale)     เป็นชุดของข้อคำถามด้านความรู้สึกที่มีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดในทางบวกหรือทางลบ ซึ่งมีการกำหนดระดับของคำตอบไว้เป็นช่วง ๆ (interval) ให้กลุ่มตัวอย่างเลือกตอบตามความรู้สึกที่แท้จริง ซึ่งเจตคติจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.) ส่วนที่เป็นความรู้หรือความเชื่อ (Cognitive or belief Component) ซึ่งเป็นการรับรู้หรือความเชื่อของบุคคลต่อสิ่งเร้านั้น 2.) ส่วนที่เป็นความรู้สึกหรือการประเมิน (feeling or evaluating Component) ซึ่งเป็นกิริยาท่าทีที่แสดงออกว่าชอบหรือไม่ชอบ ดีหรือไม่ดีต่อสิ่งเร้านั้น 3.) ส่วนที่เป็นพฤติกรรม (behavioral Component) ซึ่งเป็นความโน้มเอียงที่จะกระทำหรือจะปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิ่งเร้านั้นฉะนั้นการวัดเจตคติจึงต้องวัดทั้ง 3 องค์ประกอบของเจตคติและจะต้องวัดเป็นภาพรวม ๆ
โดยพิจารณากิริยาท่าทีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าในหลายด้าน หลายประการรวมกัน มิใช่วัดจากการกระทำหรือพฤติกรรมอย่างเดียว นอกจากนั้นการวัดเจตคติยังต้องบ่งบอกทั้งปริมาณความมากน้อยของเจตคติที่มีต่อสิ่งเร้าและทิศทางที่บอกว่ามีเจตคติไปในทางบวกหรือทางลบด้วย

     แบบวัดเจตคติที่นิยมมี 3 ชนิดคือ
     3.1 แบบของเทอร์สโตน (Thurstone’ s Scale) แบบวัดเจตคติของเทอร์สโตน
ประกอบด้วยคำถามจำนวนมากเพื่อวัดเจตคติที่บุคคลมีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด ระดับของเจตคติหรือความรู้สึกตามแบบของเทอร์สโตน แบ่งออกเป็น 11 ระดับ (Scale) เริ่มจากระดับไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง (1) ไปจนถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง (11) ระดับกลางเป็นความรู้สึกไม่แน่ใจ (6) หรืออีกนัยหนึ่ง ความรู้สึกในทางลบมีระดับ 1 – 5 ความรู้สึกกลางมีระดับ 6 ความรู้สึกในทางบวกมีระดับ 7-11 แต่ละข้อจะมีค่าระดับเจตคติประจำข้อ (Scale Value : S) ซึ่งได้มากจากการตัดสินของกลุ่มผู้ตัดสิน ซึ่งมีจำนวนประมาณ 50-100 คน การตอบผู้ตอบเลือกข้อความที่เห็นด้วยมากที่สุด จำนวนข้อตามที่กำหนดให้เลือก ผู้ตอบได้คะแนนตามค่า S ของข้อที่เลือก
     3.2 แบบของลิเคิร์ท (Likert ‘s Scale) แบบวัดเจตคติของลิเคิร์ท ประกอบด้วย
ข้อคำถามที่แสดงเจตคติ หรือความรู้สึกต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดในทางบวก ในแบบวัดจะต้องประกอบไปด้วยทั้งข้อคำถามทางบวกและทางลบในจำนวนพอ ๆ กัน ระดับเจตคติตามแบบของลิเคิร์ทนิยมแบ่งออกเป็น 5 ระดับ (Scale) คือ เห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นด้วย ไม่แน่ใจ ไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
อย่างยิ่ง ถ้าเป็นข้อความทางบวกจะมีคะแนน 5 4 3 2 1 (หรือ 4 3 2 1 0) ถ้าเป็นข้อความทางลบจะมีคะแนน 1 2 3 4 5 (หรือ 0 1 2 3 4) เช่น การวัดเจตคติต่อการเรียน
รายการ
เห็นด้วยอย่างยิ่ง
เห็นด้วย
ไม่แน่ใจ
ไม่เห็นด้วย
ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
1.นักเรียนมีความสุข เมื่อเรียนวิชาภาษาไทย
2. ภาษาไทยเป็นวิชาที่สร้าง ความเครียดให้กับผู้เรียน
5
(4)
1
(0)
4
(3)
2
(1)
3
(2)
3
(2)
2
(1)
4
(3)
1
(0)
5
(4)
       การตอบจะให้ผู้ตอบตอบทุกข้อโดยแต่ละข้อเลือกระดับ ที่ตรงกับความรู้สึกที่แท้จริงมากที่สุด ผู้ตอบได้คะแนนตามระดับที่เลือกตอบแต่ละข้อแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย ได้เป็นคะแนนเจตคติของผู้นั้น
       3.3 แบบของออสกูด (Osgood ’s Scale) แบบวัดเจตคติของออสกูดเรียกกันทั่วไปว่าวิ ธีหาความแตกต่างของความหมาย (Semantic differential Method) มีลักษณะคล้ายกับการหาความหมายของมโนทัศน์ ด้วยการกำหนดมโนทัศน์ซึ่งอาจจะเป็นคำ ข้อความ หรือวลี มาให้ตอบด้วยการประเมินจาก 7 ช่วง ตามความหมายของคำศัพท์ตรงกันข้าม ซึ่งแบบวัดเจตคติของออสกูดจะประกอบด้วยข้อคำถามที่เป็นคำศัพท์ที่มีความหมายตรงกันข้ามเป็นคู่ ๆ แต่ละเรื่องที่จะวัดประกอบด้วยคำคุณศัพท์ 3 ประเภท หรือประเภทใดประเภทหนึ่งต่อไปนี้
          1. คำคุณศัพท์แสดงการประเมิน เช่น ดี-เลว น่ารัก-น่าเกลียด หล่อ-ขี้เหร่
          2. คำคุณศัพท์แสดงศักยภาพ เช่น แข็งแรง-อ่อนแอ หนัก-เบา ใหญ่-เล็ก
          3. คำคุณศัพท์แสดงการเคลื่อนไหว เช่น ร่าเริง-เศร้าซึม เร็ว-ช้า สว่าง-มืด
          ระดับเจตคติหรือความรู้สึกตามแบบของออสกูดนี้ แบ่งเป็น 7 ระดับ (Scale) คือ 7 6 5 4 3 2 1 (หรือ 3 2 1 0 (-1) (-2) (-3)) จากคุณศัพท์ทางบวกไปหาคุณศัพท์ทางลบเช่น

ครูของเรา
   หล่อ                         ขี้เหร่
     7   6    5   4   3   2   1
   แข็งแรง                     อ่อนแอ
     7   6    5   4   3   2   1
   ว่องไว                       เชื่องช้า
     7   6    5   4   3   2   1
     ดี                           เลว
     7   6    5   4   3   2   1

     การตอบผู้ตอบ ตอบทุกข้อโดยแต่ละข้อเลือกระดับที่ตรงกับความรู้สึกที่แท้จริงมากที่สุด
ผู้ตอบจะได้คะแนนตามระดับที่เลือกตอบแต่ละข้อแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย ได้เป็นคะแนนเจตคติของ ผู้นั้น
    

      4. การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล
การวิจัย การสัมภาษณ์มีจุดมุ่งหมายทำนองเดียวกับการใช้แบบทดสอบ จึงมีผู้เรียกการสัมภาษณ์ว่าเป็นแบบสอบถามปากเปล่า (Oral questionnaires) แต่มีความแตกต่างกันตรงวิธีการ กล่าวคือ การสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์เป็นฝ่ายซักถามโดยการพูด ผู้ตอบก็ตอบโดยการพูดแล้วผู้สัมภาษณ์เป็นฝ่ายบันทึกคำตอบ ส่วนการใช้แบบสอบถามผู้ตอบตอบโดยการเขียน ตอบลงในแบบสอบถาม ซึ่งการสัมภาษณ์เป็นการพบปะถามตอบกันโดยตรง หากมีข้อสงสัยหรือคำถามใด คำตอบไม่ชัดเจนก็ถามซ้ำหรือทำความเข้าใจได้ และสามารถทำได้ทันทีเป็นการสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้ตอบและผู้ทำวิจัย การสัมภาษณ์ที่ดีถ้าผู้สัมภาษณ์เป็นผู้มีประสบการณ์ถึงขั้นชำนาญแล้วจะสามารถรวบรวมข้อมูลได้ดีกว่าวิธีอื่น เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือคนเรานั้นเต็มใจที่จะพูดมากกว่าเขียน
โดยทั่วไปจำแนกการสัมภาษณ์เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
       4.1 การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่ไม่มีการกำหนดคำถามที่แน่นอนตายตัว หรือหากมีการกำหนดไว้บ้าง ก็เป็นคำถามประเด็นหลัก ผู้ถามสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และผู้ตอบแต่ละคนได้ เป็นการสัมภาษณ์ที่ยืดหยุ่นและเปิดกว้าง ผู้ถามมีอิสระในการถามเพื่อให้ได้คำตอบตรงตามจุดมุ่งหมายของการวิจัย ไม่นิยมเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้นำมาทดสอบสมมติฐาน ซึ่งคำตอบอาจนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างแบบสัมภาษณ์สำหรับใช้ในการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างในครั้งต่อ ๆ ไปหรือใช้ประโยชน์ในการสร้างแบบทดสอบ และแบบสอบถามได้
       4.2 การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง(Structured Interview) เป็นการสัมภาษณ์
ที่มีการกำหนดข้อคำถามไว้ล่วงหน้า และในการสัมภาษณ์ผู้ตอบแต่ละคนจะต้องได้รับการถามเช่นเดียวกัน และในลำดับขั้นตอนเดียวกันด้วย ดังนั้น การสัมภาษณ์แบบนี้จำเป็นต้องใช้แบบสอบถามที่จัดเตรียมไว้ก่อน การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างช่วยให้ผู้ถาม ถามในประเด็นที่ต้องการไม่ออกนอกเรื่อง ไม่เกินขอบเขตที่กำหนดไว้ และข้อมูลที่ได้รับสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ถ้าจำแนกตามจำนวนผู้ให้สัมภาษณ์ในเวลาเดียวกันเป็นเกณฑ์ สามารถแบ่งได้เป็น
2 ประเภท คือ
           1. การสัมภาษณ์เป็นรายบุคคล เป็นการสัมภาษณ์ที่มีผู้ให้สัมภาษณ์เพียงคนเดียวเผชิญหน้ากับผู้สัมภาษณ์ วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีและให้ผลมาก นิยมใช้กับงานบริหารบุคคลหรือเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานและเกี่ยวกับการวิจัยโดยทั่วไป
           2. การสัมภาษณ์เป็นกลุ่ม เป็นการสัมภาษณ์ที่มีผู้ให้สัมภาษณ์หลายคน หรือมีการรวบรวมกลุ่มเล็ก ๆ วิธีนี้ผู้สัมภาษณ์จะแจ้งวัตถุประสงค์ และป้อนคำถามโดยอธิบายให้กลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์เข้าใจอย่างชัดเจนแล้วให้แต่ละคนตอบ ในขณะที่ตอบ ถ้าใครสงสัยก็ถามทวนได้ วิธีการนี้บางทีก็เรียกว่ากลุ่มสนทนา (Focus Group)
     ข้อดีและข้อเสียของการสัมภาษณ์เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบอื่น ๆ
การสัมภาษณ์มีข้อดีหลายประการ ดังต่อไปนี้
     1. ได้รับคำตอบจากผู้ให้สัมภาษณ์อย่างครบถ้วน ทั้งจำนวนและลักษณะข้อมูลที่ต้องการ
     2. ข้อมูลที่ได้รับ มีความคลาดเคลื่อนน้อย เชื่อถือได้มากเพราะได้ไปสัมภาษณ์เห็นมาโดยตรง
     3. สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทั้งผู้ให้สัมภาษณ์และผู้วิจัย
     4. เป็นวิธีที่สามารถแยกข้อเท็จจริง ความเห็น และอารมณ์ออกจากกันได้
     5. รวบรวมข้อมูลได้เกือบทุกลักษณะทั้งที่เป็นข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลที่ยุ่งยากซับซ้อน หรือข้อมูลที่แอบแฝงด้วยอารมณ์ ความรู้สึกของผู้ให้สัมภาษณ์
     6. เป็นวิธีที่ทำให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากที่ต้องการ ด้วยการสังเกตสีหน้า ท่าทาง การพูด และคำตอบ
     7. ในขณะสัมภาษณ์ ถ้าสงสัยข้องใจอะไรสามารถสอบถาม ทบทวนกันได้ทันที และทำให้เข้าใจกันได้ทุกประเด็นก่อนจบ
      แต่อย่างไรก็ตามการสัมภาษณ์เพื่อรวบรวมข้อมูลในการวิจัยมีข้อจำกัดที่สำคัญดังนี้
1. สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แรงงานและเวลามาก
2. ยากที่จะขจัดความลำเอียงของผู้สัมภาษณ์ออกจากผลการสัมภาษณ์ได้
3. ผลการสัมภาษณ์ขึ้นอยู่กับตัวผู้สัมภาษณ์อย่างมาก ถ้าผู้สัมภาษณ์ไม่มีประสบการณ์ ผลที่ได้ก็เชื่อถือไม่ค่อยได้
4. อาจได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ถ้าผู้สัมภาษณ์หรือผู้ให้สัมภาษณ์กระวนกระวายใจ มีความเครียดเกิดขึ้นระหว่างการสัมภาษณ์
5. ถ้าใช้ผู้สัมภาษณ์หลายคนแบ่งงานไปช่วยสัมภาษณ์ ยากที่จะทำให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันได้
6. ถ้าผู้ให้สัมภาษณ์อยู่กระจัดกระจายมากจะมีผลต่อการเดินทาง เวลา รวมทั้งสิ้นเปลือง เงินทองค่าใช้จ่ายมากด้วย
7. ภาษาอาจมีผลต่อการสัมภาษณ์ด้วย ถ้าผู้สัมภาษณ์กับผู้ให้สัมภาษณ์ไม่เข้าใจภาษาของกันและกัน
     ลักษณะของแบบสัมภาษณ์
     เนื่องจากแบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องช่วยสำหรับการสอบถาม โดยการพูด ดังนั้นลักษณะของแบบสัมภาษณ์จึงเป็นลักษณะทำนองเดียวกับแบบสอบถาม เพียงแต่ใช้สำหรับผู้ถามไม่ใช่ผู้ตอบ ลักษณะของข้อคำถามในแบบสัมภาษณ์ก็เช่นเดียวกัน อาจเป็นข้อคำถามแบบปิดหรือแบบเปิด หรืออาจใช้ผสมกันทั้งแบบปิดและแบบเปิด
      5. การสังเกต (Observation) เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลการวิจัยโดยการใช้ประสาทสัมผัสของผู้สังเกต แล้วผู้สังเกตเป็นฝ่ายบันทึกสิ่งที่สังเกตได้ อาจบันทึกได้หลายวิธี เช่น การเขียน การอัดเสียงลงในแถบบันทึกเสียง บันทึกเหตุการณ์ไว้ในวีดีทัศน์ วิธีการสังเกตเหมาะสำหรับการศึกษาพฤติกรรมของบุคคลและปรากฏการณ์ต่าง ๆ
การวิจัยทางสังคมศาสตร์ นิยมแบ่งการสังเกตออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
     5.1 การสังเกตแบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Observation) เป็นการสังเกตที่ไม่ได้กำหนดรายการสิ่งที่จะต้องสังเกตไว้อย่างแน่นอน แต่ผู้สังเกตมีอิสระที่จะสังเกตพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ บางครั้งเรื่องราวที่สังเกตนั้น ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีผู้ศึกษาไว้ต้องอาศัยการสังเกตแบบนี้ นอกจากนี้ผลที่ได้สามารถนำไปใช้สร้างแบบสังเกตแบบมีโครงสร้างในขั้นต่อไปได้
     5.2 การสังเกตแบบมีโครงสร้าง (Structured Observation) เป็นการสังเกตที่มี การกำหนดรายการสิ่งที่ต้องสังเกตไว้ล่วงหน้าว่าจะสังเกตอะไรบ้าง จะสังเกตเมื่อไร ดังนั้นการสังเกตแบบนี้จำเป็นต้องใช้แบบสังเกตที่จัดเตรียมไว้ก่อน แบบสังเกตจะช่วยให้ผู้สังเกตสามารถสังเกตพฤติกรรมได้ครบถ้นและเป็นระบบ
การจำแนกการสังเกตโดยใช้เงื่อนไขการมีส่วนร่วมในเหตุกาณณ์ที่เข้าไปสังเกต แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
       1. การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) เป็นการสังเกตที่ผู้
สังเกตเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ หรือกิจกรรมนั้น ๆ การเข้าไปมีส่วนร่วมอาจจะเป็นลักษณะที่มีส่วนร่วมโดยสมบูรณ์ (Completion Participant) หรือมีส่วนร่วมโดยไม่สมบูรณ์ (Incompletion Participant) การสังเกตแบบมีส่วนร่วมโดยสมบูรณ์ผู้สังเกตจะเข้าไปเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มเช่นเดียวกับผู้ถูกสังเกต การมีส่วนร่วมโดยสมบูรณ์ผู้ถูกสังเกตจะไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกสังเกตจึงมีพฤติกรรมตามปกติ เช่น ครูผู้สอนระดับปฐมวัย สังเกตพัฒนาการของนักเรียนโดยผู้สังเกตเป็นครูผู้สอนการสังเกตพฤติกรรมการอยู่ร่วมกัน ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่ผู้สังเกตจะต้องไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านชาวเขานั้น ๆ หรือผู้บังคับบัญชาสังเกตลักษณะการบริหารของผู้บริหารโรงเรียนโดยการเข้าร่วมประชุมของโรงเรียน เป็นต้น
ส่วนการมีส่วนร่วมโดยไม่สมบูรณ์ ผู้สังเกตจะเข้าไปร่วมกิจกรรมบ้างตามสมควร เพื่อสร้างความคุ้นเคยและความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ถูกสังเกต
       2. การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non - Participant Observation) เป็นการสังเกตที่ผู้สังเกตจะอยู่นอกวงผู้ถูกสังเกต ทำตนเป็นบุคคลภายนอก ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับผู้ถูกสังเกต ขณะสังเกตผู้สังเกตอาจจะอยู่ในบริเวณเดียวกัน หรืออยู่นอกบริเวณเหตุการณ์ที่สังเกตก็ได้ การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมนี้มีทั้งแบบที่ผู้ถูกสังเกตรู้ตัวและไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกสังเกต เช่น ศึกษานิเทศก์ สังเกตการสอนของครูและสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนโดยการเดินผ่านห้องเรียนต่าง ๆ
ข้อดีและข้อเสียของการสังเกต

       การใช้การสังเกตในการรวบรวมข้อมูลสำหรับการวิจัยมีข้อดี ดังนี้
      1. ข้อเท็จจริงด้วยวิธีการสังเกตโดยตรง เพราะได้ศึกษาและสังเกตประเด็นต่าง ๆ ทั้งหมดเกี่ยวกับปรากฏการณ์นั้น ๆ โดยตรง ทำให้ได้ข้อมูลที่มีความเชื่อถือได้สูง
      2. ช่วยให้ได้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนพฤติกรรมในสภาพการณ์และสภาวะการณ์ต่าง ๆ อย่าง แท้จริงซึ่งจะมีความหมายลึกซึ้งกว่า ข้อมูลที่ได้จากวิธีอื่น
      3. สามารถบันทึกข้อเท็จจริงได้ ในระหว่างที่ปรากฏการณ์ที่ต้องการสังเกต กำลังเกิดขึ้นจริง ๆ
      4. ช่วยให้ได้ข้อเท็จจริงที่ไม่บิดเบือน เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่เห็นได้จากบุคคลนั้น ๆ ทันทีโดยไม่มีโอกาสที่จะต้องนึกคิดเปลี่ยนแปลง
      5. ช่วยให้เราสามารถรวบรวมข้อมูลบางอย่างที่ผู้ถูกสังเกตไม่เต็มใจบอกหรือเป็นข้อมูลที่เป็นความลับบางอย่างได้
      6. ช่วยรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ได้ด้วยวิธีการอื่น เพื่อช่วยเสริมความรู้ความเข้าใจใน ข้อมูลให้ชัดเจนถูกต้องยิ่งขึ้น
      7. ช่วยให้ได้ข้อเท็จจริงบางอย่างที่เป็นผลพลอยได้ (by Product) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการสังเกต โดยมีความสำคัญต่อการวิจัยนั้นอย่างยิ่ง
      ข้อจำกัดของการสังเกต มีดังนี้
      1. ผลของการสังเกตขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของผู้สังเกตเป็นสำคัญถ้าผู้สังเกตไม่มีความรู้ในเรื่องที่จะสังเกตดีพอ หรือไม่มีความเข้าใจในวิธีการสังเกต การสังเกตจะได้ผลน้อยมาก
      2. เสียเวลามาก เพราะพฤติกรรมบางอย่างที่ต้องการสังเกต อาจไม่เกิดขึ้นในระยะเวลา อันสั้นแต่ต้องรอระยะหนึ่งจึงเกิดพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์นั้น เช่น การสังเกตพฤติกรรมก้าวร้าวของนักเรียนระดับปฐมวัย
      3. อาจมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ทำให้ไม่มีโอกาสสังเกตเพราะเหตุการณ์หรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นนั้นยากที่จะคาดคะเนให้ได้แน่นอน เช่น วางแผนการสังเกตไว้ว่า พรุ่งนี้จะสังเกต
พฤติกรรมการสอนของอาจารย์สุวิมล แต่อาจารย์สุวิมลเกิดป่วยทำให้ไม่สามารถสังเกตพฤติกรรมการสอนของอาจารย์สุวิมลในวันนั้นได้ ต้องเลื่อนการสังเกตออกไป ถ้าหากไม่สามารถเลื่อนได้ก็อาจจะเกิดผลเสียหายแก่การวิจัยนั้นได้
      4. เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์บางอย่างอาจยากที่จะไปสังเกตได้ เช่น เหตุการณ์หรือ กิจกรรมส่วนตัวของนักเรียนที่ติดยาเสพติด หรือกิจกรรมของหญิงหรือชายที่มีอาชีพขายบริการทางเพศ หรือเหตุการณ์บางอย่างที่อาจจะเกิดพร้อม ๆ กันหลาย ๆ อย่างและหลาย ๆ แห่ง ทำให้ยากแก่การไปสังเกตให้ได้ผลครบถ้วน
      5. เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์บางอย่างไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงไม่สามารถบันทึกผลได้ เช่น การสังเกตสีหน้าของเด็กทำผิดว่ามีสีหน้าอย่างไร ซึ่งผู้สังเกตอาจจะมองไม่เห็น
สีหน้าของเด็กในเวลาที่ทำผิดก็ได้
      6. ผู้ถูกสังเกต ถ้ารู้ว่าตนถูกสังเกต อาจจะพยายามแสร้งทำหรือสร้างรอยประทับใจเป็นพิเศษให้แก่ผู้สังเกตจนทำให้ผู้สังเกตได้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง ไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้
      ลักษณะของแบบสังเกต
      เนื่องจากแบบสังเกตเป็นเครื่องมือช่วยสำหรับการสังเกต ดังนั้น แบบสังเกตจะประกอบด้วยข้อความเกี่ยวกับสิ่งที่จะสังเกต อาจอยู่ในรูปของแบบตรวจสอบรายการ (Checklists)
มาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scales) หรือรูปแบบอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับธรรมชาติของสิ่งที่จะสังเกตและจุดมุ่งหมายของการสังเกต

ขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลเป็นรายบุคคลโดยการจัดการทดลอง
 ขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลเป็นรายบุคคลโดยการจัดการทดลอง
1. เลือกและกำหนดปัญหา
     2. ออกแบบการทดลอง โดยคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
        2.1 ตัวแปรต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการทดลองแต่อาจจะมีอิทธิพลต่อผลการทดลองต้องพิจารณาว่าจะควบคุมตัวแปรเหล่านี้ได้อย่างไร
        2.2 เลือกแบบแผนการทดลองให้สอดคล้องกับปัญหาที่จะทำ
        2.3 ทำการสร้างหรือคัดเลือกเครื่องมือที่จะใช้ในการทดลอง
        2.4 ทำการทดลองตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ
     3. ดำเนินการทดลอง
     4. รวบรวมข้อมูล

       ข้อดีของการรวบรวมข้อมูลโดยการทดลอง ผู้วิจัยมีโอกาสที่จะควบคุมตัวแปรเกินต่าง ๆ
ได้มากกว่าการรวบรวมข้อมูลโดยวิธีอื่น ๆ และข้อมูลที่ได้จากการทดลองนั้นสามารถที่จะใช้ตอบปัญหาเกี่ยวกับการเป็นเหตุเป็นผลได้อย่างชัดเจน
       ข้อจำกัดของการรวบรวมข้อมูลโดยการทดลอง การวิจัยทางการศึกษานั้นโอกาสที่จะ
รวบรวมข้อมูลโดยการทดลองอย่างแท้จริง (True experiment) ค่อนข้างลำบาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะกึ่งทดลอง (Quasi experiment) มากกว่า ซึ่งการรวบรวมข้อมูลในลักษณะกึ่งทดลองนั้นโอกาสที่จะมีตัวแปรเกินแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ง่าย

ผู้รวบรวม : นิสิตสาขาการสอนภาษาจีน ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยบูรพา
                     คิง ครีม อาย ออม 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น