วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556


เครื่องมือและเทคนิคในการรวบรวมข้อมูล
วัตถุประสงค์
       1. บอกความหมายและประเภทของข้อมูลได้
       2. บอกระดับการวัดได้ถูกต้อง
       3. บอกวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลได้
       4. บอกวัตถุประสงค์ของเครื่องมือการวิจัย พร้อมยกตัวอย่างเครื่องมือแต่ละประเภทได้
       5. บอกลักษณะและชนิดของเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ได้
          คือ แบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบวัดเจตคติ แบบสัมภาษณ์และการสังเกต
       6. สามารถเลือกใช้ประเภทของเครื่องมือได้เหมาะสมกับตัวแปรที่จะวัด
       7. บอกขั้นตอนการสร้างเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลได้
ขั้นตอนในการสร้างเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล
ขั้นตอนในการสร้างเครื่องมือในการวิจัย
ในการสร้างเครื่องมือในการวิจัยโดยภาพรวมมีขั้นตอนดังนี้
     1. ทำการวิเคราะห์จุดมุ่งหมายของการวิจัย เพื่อที่จะได้กำหนดวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลได้ตรงกับจุดมุ่งหมาย
     2. กำหนดลักษณะข้อมูลว่ามีข้อมูลประเภทใดบ้าง ลักษณะเช่นไร เพื่อจะได้กำหนดระดับการวัดและกำหนดเครื่องมือวัดให้ตรงจุดมุ่งหมาย
     3. พิจารณาว่าจะใช้เครื่องมือ หรือเทคนิคใดในการเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อจะได้เก็บข้อมูลได้ตรงกับจุดมุ่งหมาย
     4. วางแผนในการสร้างเครื่องมือและการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงานแต่ละขั้นตอนไว้ให้ชัดเจน ตั้งแต่การศึกษาทฤษฎี หลักการในการสร้างเครื่องมือประเภทนั้น ๆ ศึกษาตัวอย่างเครื่องมือที่คล้ายกัน การเขียนข้อคำถามต่าง ๆ การให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณา การทดลองใช้และคำนวณค่าสถิติที่ชี้คุณภาพ การปรับปรุงข้อความ การนำไปใช้จริง เป็นต้น
     5. สร้างเครื่องมือรวบรวมข้อมูลตามทฤษฎี หลักการของการสร้างเครื่องมือประเภทนั้น ๆ
     6. ทดลองใช้เครื่องมือ และหาคุณภาพด้านความตรง ความเที่ยง และคุณภาพด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับเครื่องมือรวบรวมข้อมูลประเภทนั้น ๆ ทำการปรับปรุงจนกว่าจะมีคุณภาพเข้าขั้นมาตรฐาน จึงทำเป็นเครื่องมือที่จะใช้จริง
     7. เก็บรวบรวมข้อมูลตามแผนที่ได้กำหนดไว้ในขั้นตอนที่ 4 ใช้เครื่องมือที่จัดทำเป็นมาตรฐานในขั้นที่ 6 ในกรณีที่มีเครื่องมือรวบรวมข้อมูลที่เป็นมาตรฐานที่มีผู้สร้างไว้แล้ว ผู้วิจัยพิจารณาเห็นว่าเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลของการวิจัยของตน โดยไม่มีปัญหาด้านการขออนุญาตใช้เครื่องมือดังกล่าว และไม่มีปัญหาด้านความตรงไม่ต้องทำขั้นตอนที่ 5 และ 6 และในขั้นตอนที่ 4 ก็ตัดแผนเกี่ยวกับการสร้างและปรับปรุงเครื่องมือออกไปเพราะผู้วิจัยไม่ได้สร้างและปรับปรุงเครื่องมือเมื่อสร้างและปรับปรุงเครื่องมือในการวิจัยให้มีคุณภาพตามเกณฑ์ต่าง ๆ แล้ว ผู้วิจัยติดต่อเพื่อขอความร่วมมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลกับต้นสังกัดของหน่วยตัวอย่าง หรือติดต่อกับหน่วยตัวอย่างโดยตรงก็ได้
หลักในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นรายบุคคล
หลักในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นรายบุคคล: มีดังนี้
1. ข้อมูลที่ได้ต้องเป็นข้อมูลที่ชัดเจน สามารถเข้าใจได้ง่าย
2. ข้อมูลที่จัดหาต้องตรงความเป็นจริง และเป็นข้อมูลที่สรรหามาเป็นอย่างดี
3. เป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เท่าทันเหตุการณ์ ไม่ล้าสมัย
4. เมื่อได้ข้อมูลหลาย ๆ อย่างแล้ว ต้องเก็บรวบรวมเข้าไว้ด้วยกันจัดให้เข้าพวกเข้าหมู่อย่างมีระเบียบ
5. ข้อมูลที่ได้ต้องเก็บเข้าแฟ้มให้เรียบร้อย เพื่อจะได้สามารถได้ง่ายและสามารถนำมาใช้ได้รวดเร็วเมื่อต้องการใช้
วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นรายบุคคล
วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิที่ใช้ในการวิจัยทางการศึกษาได้แก่
     1. การใช้แบบทดสอบ
     2. การส่งแบบสอบถามหรือแบบวัดเจตคติ
     3. การสัมภาษณ์
     4. การสังเกต
     5. การใช้เทคนิคสังคมมิติ
     6. การทดลอง
1. การใช้แบบทดสอบ
       การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบทดสอบนั้น ผู้วิจัยอาจจะใช้แบบทดสอบที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง หรือใช้แบบทดสอบมาตรฐานก็ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการวิจัย ถ้าผู้วิจัยจะใช้แบบทดสอบมาตรฐานในการรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยควรจะได้ศึกษาเสียก่อนว่าแบบทดสอบมาตรฐานที่ต้องการนั้น จะไปติดต่อแหล่งข้อสอบเหล่านั้นได้ที่ไหน หลังจากที่ได้แบบทดสอบมาแล้ว ผู้วิจัยจะต้องศึกษาคู่มือการใช้แบบทดสอบฉบับที่ได้มานั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน และจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของการใช้แบบทดสอบนั้นอย่างเคร่งครัดสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ผู้วิจัยจะต้อง
ติดต่อกลุ่มตัวอย่างที่จะไปทำการทดสอบล่วงหน้า มีการนัดหมายกำหนดเวลาในการทดสอบไว้อย่างแน่นอน เช่น การไปติดต่อขอสอบนักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ผู้วิจัยจะต้องติดต่อกับ
ผู้อำนวยการหรืออาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนเหล่านั้น โดยติดต่อขออนุมัติจากทางกรมเจ้าสังกัดเสียก่อน ถ้าเป็นงานวิทยานิพนธ์ของนิสิตระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก ผู้วิจัยหรือนิสิต
นักศึกษาต้องทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ในการรวบรวมข้อมูลจากภาควิชาหรือบัณฑิตวิทยาลัยไปถึงต้นสังกัดของแหล่ง ข้อมูลที่จะไปรวบรวมให้เรียบร้อยก่อน ดังนั้นในการรวบรวมข้อมูลนั้น
ผู้วิจัยจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะทำอะไรบ้าง จะได้ไม่เกิดปัญหาในขณะที่กำลังรวบรวมข้อมูล แบบทดสอบที่จะเตรียมไปนั้นต้องเตรียมจำนวนไปให้พอกับจำนวนผู้สอบ จะคุมสอบเอง
ทั้งหมดหรือจะให้ใครเป็นผู้ช่วยในการคุมสอบ สิ่งเหล่านี้ผู้วิจัยจะต้องเตรียมการอย่างรอบคอบ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดเรียกว่า การบริหารการสอบ (Test Administration)
     2. การส่งแบบสอบถามหรือแบบวัดเจตคติ
        การรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามนั้นเป็นวิธีที่นิยมใช้ในการวิจัยเชิงสำรวจมากที่สุด วิธีการส่งแบบสอบถามหรือแบบวัดเจตคติไปถึงกลุ่มตัวอย่างหรือกลุ่มประชากรนั้นทำได้ 2 วิธี คือ ผู้วิจัยนำแบบสอบถามหรือแบบวัดเจตคติไปส่งให้กับผู้ตอบ และรับกลับด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะรับกลับภายในวันที่ไปส่งให้หรือนัดหมายมารับภายหลัง หรือส่งแบบสอบถามหรือแบบวัดเจตคติไปให้ผู้ตอบทางไปรษณีย์ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ประหยัดและสะดวกในการปฏิบัติแต่อาจจะได้แบบสอบถามกลับมาน้อยกว่าวิธีแรก การส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ควรดำเนินการดังนี้
     1. รวบรวมรายชื่อสมาชิกในกลุ่มตัวอย่าง หรือกลุ่มประชากรที่เป็นเป้าหมายในการเก็บรวบรวมข้อมูล
     2. กำหนดรหัสของแบบสอบถามทุกชุดเรียงตามลำดับเลขหมาย พร้อมทั้งติดแสตมป์อย่างสมบูรณ์
     3. เขียนหรือพิมพ์ชื่อและที่อยู่ของผู้ตอบแบบสอบถามอย่างชัดเจน พร้อมทั้งติดแสตมป์อย่างสมบูรณ์
     4. เขียนหรือพิมพ์ชื่อที่อยู่ของผู้วิจัย ที่ผู้ตอบแบบสอบถามจะส่งแบบสอบถามกลับมาได้อย่างชัดเจน พร้อมติดแสตมป์ให้ด้วย การรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามหรือแบบวัดเจตคตินั้น มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดดังนี้ คือ
       ข้อดีของการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถาม
     1. ประหยัดและรวดเร็วในการรวบรวมข้อมูล
     2. สะดวกในการรวบรวมข้อมูลในกรณีที่กลุ่มตัวอย่างเป้าหมายอยู่กระจัดกระจาย
     3.ไม่เกิดความลำเอียงจากผู้สังเกต
     4. ในกรณีที่มีคำถามบางข้อที่ผู้ตอบต้องการที่ต้องค้นหาคำตอบจากเอกสาร หรือ หลักฐานบางอย่าง การรวบรวมข้อมูลวิธีนี้ ให้เวลากับผู้ตอบมากพอ
     5. ไม่เปิดเผยว่าใครเป็นผู้ตอบแบบสอบถามฉบับใด เพราะคำถามบางข้อที่ผู้ตอบไม่อยากตอบถ้าใช้วิธีรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ แต่เต็มใจที่จะตอบแบบสอบถามเพราะผู้วิจัย จะไม่ทราบว่าเป็นใครเป็นผู้ตอบ
     6. การส่งแบบสอบถาม ไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาจนชำนาญเหมือนกับการรวบรวมข้อมูลโดยวิธีสังเกตหรือสัมภาษณ์ที่ต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
     7. การวิเคราะห์ข้อมูล จัดทำได้ง่ายกว่าการรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกตหรือสัมภาษณ์ เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามจะตอบคำถามที่มีรูปแบบเหมือนกัน คำถามอย่างเดียวกัน
       ข้อจำกัดของการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถาม
     1. ในการสร้างแบบสอบถามผู้วิจัยจำเป็นต้องถามเฉพาะคำถามที่สำคัญและต้องการทราบเพื่อไม่ให้แบบสอบถามยาวเกินไปจนทำให้ไม่สามารถที่จะถามคำถามทุกชนิดได้
     2. ถ้าถามไม่ชัดเจนพอ ทำให้ผู้ตอบเกิดความเข้าใจผิดได้ ผู้วิจัยไม่มีโอกาสอธิบาย
     3. ศัพท์เฉพาะบางตัวที่ใช้ในแบบทดสอบ บางครั้งผู้ตอบบางคนไม่ทราบ ทำให้ได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
     4. กลุ่มประชากรเป้าหมายที่จะศึกษาโดยวิธีการส่งแบสอบถามนั้น จะจำกัดเฉพาะผู้ที่อ่านออกเขียนได้เท่านั้น
     5. ลำบากในการตรวจสอบคำตอบของผู้ตอบ ถึงแม้ว่าจะใช้คำถามที่ต่างกันในเรื่อง ๆ เดียวกันเพราะผู้ตอบสามารถที่จะบิดเบือนข้อมูลได้ง่าย
     6. ได้แบบสอบถามกลับคืนน้อย
       การติดตามการส่งแบบสอบถาม
       ปัญหาประการหนึ่งของการส่งแบบสอบถามก็คือ ได้แบบสอบถามกลับคืนมาไม่ครบ ผู้วิจัยควรจะส่งจดหมายเตือนและส่งแบบสอบถามไปให้อีกครั้งหนึ่ง การตรวจสอบว่าใครยังไม่ได้ส่งกลับมานั้น ผู้วิจัยควรจะทำรหัสของแบบสอบถามไว้ ถ้าได้รับแบบสอบถามกลับคืนมาไม่ถึง ร้อยละ 80 ของกลุ่มตัวอย่างผู้วิจัยอาจจะใช้วิธีสุ่มตัวอย่างจากผู้ที่ไม่ตอบกลับมา แล้วรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ เพื่อจะได้นำคำตอบที่ได้มานั้นเปรียบเทียบแนวการตอบที่ผู้ตอบตอบมาแล้ว ถ้ามีลักษณะสอดคล้องกันก็ถือได้ว่า ข้อมูลที่รวบรวมมานั้นใช้ได้แล้ว แต่ถ้าต่างกันต้องหาวิธีติดตามให้ได้แบบสอบถามกลับมามากขึ้น

     3. การสัมภาษณ์
การรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ คือ การรวบรวมข้อมูลลักษณะที่ผู้รวบรวมข้อมูลมีโอกาสพบปะ พูดคุย สนทนากับผู้ให้ข้อมูลโดยตรง ซึ่งการสัมภาษณ์นั้นจัดแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ ดังนี้
1. การสัมภาษณ์แบบเป็นมาตรฐาน (Standardized interview หรือ Structured interview) เป็นการสัมภาษณ์ในลักษณะที่ผู้สัมภาษณ์จะกำหนดคำถามที่จะถามเตรียมไว้ล่วงหน้าในลักษณะที่เป็นแบบสอบถาม มีรายละเอียดของข้อคำถามที่จะถามผู้ให้สัมภาษณ์พร้อมทั้งตัวเลือกในการตอบแบบสอบถาม หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ การสัมภาษณ์แบบเป็นมาตรฐาน คือการรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ที่มีลักษณะเป็นแบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลนั่นเอง ดังนั้น ผู้ให้สัมภาษณ์ทุก ๆ คนจะได้รับคำถามเหมือน ๆ กันตามแบบสัมภาษณ์ที่กำหนดไว้
2. การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นมาตรฐาน (Unstandardized interview หรือ Unstructured interview) เป็นการรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ที่มีแต่หัวข้อที่ต้องการสัมภาษณ์ เป็นประเด็นกว้าง ๆ ส่วนคำถามเฉพาะเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของผู้สัมภาษณ์จะถามจากผู้ให้สัมภาษณ์เอง ซึ่งคำถามที่ใช้ถามนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมดใน
รายละเอียดของทุก ๆ คำถามสำหรับผู้ให้สัมภาษณ์ทุก ๆ คน ผู้ให้สัมภาษณ์แต่ละคนอาจให้รายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน ซึ่งคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ นั้นจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจากการให้ข้อมูลของผู้ให้สัมภาษณ์แต่ละคน การสัมภาษณ์ลักษณะนี้จะให้รายละเอียดที่ลึกซึ้งกว่าการสัมภาษณ์แบบแรก ผู้สัมภาษณ์ควรจะเป็นตัวผู้วิจัยเองจะได้ทราบวัตถุประสงค์ของการวิจัยอย่างแจ่มชัด และสามารถตั้งคำถามต่าง ๆ ได้ถูกต้องตามเป้าหมายที่ต้องการ

      ขั้นตอนของการสัมภาษณ์
      การสัมภาษณ์ที่จะให้ได้ข้อมูลตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยและมีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด ผู้วิจัยควรจะดำเนินการดังนี้
     1. กำหนดวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์ให้ชัดเจน ซึ่งวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์นั้นควรจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย
     2. กำหนดตัวผู้ให้สัมภาษณ์ ในการกำหนดตัวผู้ให้สัมภาษณ์นั้นเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นหนึ่งผู้วิจัยควรจะศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้ดีเสียก่อนว่าผู้ที่จะให้สัมภาษณ์นั้นควรจะเป็นผู้ที่รู้ข้อมูลที่เราต้องการทราบอย่างแท้จริง เพราะถ้าหากผู้วิจัยไม่ศึกษาให้ดีก่อนที่จะกำหนดตัวผู้สัมภาษณ์ อาจจะส่งผลให้ได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนได้ ถ้าผู้ให้สัมภาษณ์นั้นไม่ใช่ผู้รู้จริงในข้อมูลที่สัมภาษณ์
     3. ติดต่อ กำหนดนัดหมายเวลาและสถานที่กับผู้ให้สัมภาษณ์ที่จะไปทำการสัมภาษณ์ และควรจะบอกให้ผู้ให้สัมภาษณ์ได้ทราบล่วงหน้าด้วยว่า จะไปสัมภาษณ์เกี่ยวกับอะไร ผู้ให้สัมภาษณ์จะได้เตรียมข้อมูลไว้ได้ถูกต้อง
     4. จัดเตรียมคำถามและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ประกอบการสัมภาษณ์ เช่น เครื่องบันทึกเสียง เครื่องบันทึกภาพ เป็นต้น ถ้าเป็นการสัมภาษณ์แบบเป็นมาตรฐานแบบสัมภาษณ์ที่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพอย่างดีแล้ว ต้องเตรียมไว้ให้พร้อม
     5. ควรจะศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้สัมภาษณ์เป็นอย่างดี เพื่อความสะดวกในการสร้างสัมพันธ์ภาพในระหว่างการสัมภาษณ์
     6. ในกรณีที่จะต้องใช้ผู้สัมภาษณ์หลายคน ควรจะมีการฝึกฝนอบรมผู้สัมภาษณ์เสียก่อน
ให้มีความรู้ความเข้าใจตรงกันถึงวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์ วัตถุประสงค์ของงานวิจัย ขั้นตอนของการสัมภาษณ์ คำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์และวิธีการจดบันทึกการให้สัมภาษณ์เพราะถ้า
ผู้สัมภาษณ์มีความเข้าใจไม่ตรงกันจะทำให้ได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
     7. เมื่อเริ่มต้นการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์ควรจะได้มีการแนะนำตัวเองและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์ พยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ให้สัมภาษณ์ โดยแสดงท่าทีของการเป็นมิตร เช่น การพูดจาอย่างเป็นกันเอง การยิ้ม การแสดงความเอาใจใส่ การให้เกียรติผู้ให้สัมภาษณ์เหล่านี้เป็นต้น ข้อเสนอแนะในระหว่างการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์ควรปฏิบัติดังนี้
        7.1 พยายามให้ผู้ให้สัมภาษณ์เป็นผู้พูดให้ข้อมูลมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ผู้สัมภาษณ์อย่าแย่งพูดเสียเอง
        7.2 ใช้ภาษาที่สุภาพ ไม่แสดงอาการข่มขู่ทั้งน้ำเสียงและท่าทาง
        7.3 พยายามใช้ภาษาเดียวกับผู้ให้สัมภาษณ์ ศัพท์เทคนิคต่าง ๆ ไม่จำเป็นอย่าใช้ ควรใช้ภาษาที่ง่าย ๆ รัดกุมจะดีกว่า
        7.4 ในระหว่างที่สัมภาษณ์ให้สังเกตสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ประกอบไปด้วย
        7.5 ถ้าผู้ให้สัมภาษณ์ตอบไม่ตรงประเด็นต้องพยายามชี้แจง และตะล่อมให้เข้าสู่ประเด็นให้ได้ แต่ไม่ใช่ตัดบทอย่างกะทันหัน
        7.6 ถ้าการสัมภาษณ์ต้องใช้เวลานาน ควรจะหาทางผ่อนคลายความตึงเครียดโดยการสนทนาเรื่องอื่นที่เบา ๆ บ้างก็ได้
        7.7 ในขณะที่ผู้ให้สัมภาษณ์กำลังให้ข้อมูลอยู่นั้น อย่างแสดงอาการหรือท่าที เบื่อหน่ายต่อวิธีการพูดของผู้ให้สัมภาษณ์
        7.8 ถ้าเป็นการสัมภาษณ์แบบเป็นมาตรฐาน ผู้สัมภาษณ์ควรอ่านคำถามให้เหมือนกับในแบบสัมภาษณ์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ถามตามลำดับก่อนหลังของคำถามในแบบสัมภาษณ์ และอย่าถามนำ
     8. การจดบันทึกผลการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์ควรจะปฏิบัติดังนี้
        8.1 ควรจะจดบันทึกทันทีในระหว่างการสัมภาษณ์ หรือหลังจากที่สัมภาษณ์เสร็จใหม่ ๆ ไม่ควรทิ้งไว้นานจะทำให้ลืม
        8.2 ถ้าเป็นการสัมภาษณ์แบบเป็นมาตรฐาน ให้จดบันทึกตามรูปแบบของแบบสัมภาษณ์นั้น
        8.3 ถ้าเป็นการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นมาตรฐาน ส่วนใหญ่คำถามที่ใช้จะเป็นคำถามแบบปลายเปิด ควรบันทึกเนื้อหาสาระที่สำคัญไว้ทั้งหมด ถ้าเป็นการสัมภาษณ์ที่มีเนื้อหามาก ๆ อาจจะขออนุญาตผู้ให้สัมภาษณ์สรุปสาระสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ให้ผู้ให้สัมภาษณ์ฟังซ้ำอีกทีว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งถ้ามีสิ่งขาดตกบกพร่องผู้ให้สัมภาษณ์ก็จะแก้ไขทันที
        8.4 ในแบบบันทึกการสัมภาษณ์ทุกครั้ง ควรจะมีชื่อที่อยู่ของผู้ให้สัมภาษณ์และ วัน เดือน ปี ที่สัมภาษณ์ด้วยเพื่อจะติดตามขอสัมภาษณ์ภายหลัง กรณีข้อมูลที่ได้มาไม่ครบ
     คุณสมบัติของผู้สัมภาษณ์ที่ดี
      1. ซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้ให้สัมภาษณ์ โดยไม่นำความลับของผู้ให้สัมภาษณ์ไปเปิดเผย
      2. มีความสนใจในงานอย่าแท้จริง
      3. มีความแม่นยำในการจดบันทึก
      4. มีความสามารถในการปรับตัวอย่างสูง
      5. มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ได้อย่างดี
      6. มีสติปัญญาเฉียบไว ในการตั้งคำถามและสรุปข้อความของเนื้อหาสาระได้ควบถ้วน
     ข้อดีของการรวบรวมข้อมูลโดยการให้สัมภาษณ์
1. ผู้รวบรวมข้อมูลกับผู้ให้ข้อมูลมีโอกาสพบปะสนทนากัน ดังนั้นถ้าให้ข้อมูลหรือผู้ให้สัมภาษณ์ไม่เข้าใจคำถาม ผู้สัมภาษณ์มีโอกาสที่จะชี้แจงให้เข้าใจได้
2. อาจจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการสังเกตสีหน้า ท่าทางการพูดและสภาพแวดล้อม
3. ข้อมูลที่ได้รับจะมีความคลาดเคลื่อนน้อยกว่าข้อมูลที่ได้จากการส่งแบบสอบถามเพราะเป็นการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิโดยตรง
        ข้อจำกัดของการรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์
       1. ใช้เวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก
       2. ความแม่นยำถูกต้องของข้อมูลขึ้นอยู่กับตัวผู้ให้สัมภาษณ์เป็นอย่างมาก ถ้าผู้ให้สัมภาษณ์บิดเบือนข้อมูลหรือจำคลาดเคลื่อน ก็มีผลทำให้ข้อมูลนั้นคลาดเคลื่อนไปด้วย
       3. ถ้าใช้ผู้สัมภาษณ์หลายคน โอกาสที่จะทำให้วิธีการรวบรวมข้อมูลอยู่บนพื้นฐานเดียวกันมีน้อย โอกาสที่จะเกิดความหลากหลายในการที่จะได้มาซึ่งข้อมูลนี้มีมากขึ้นทำให้การสรุปผล ยากขึ้น
       4. การไปสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างหรือกลุ่มประชากรเป้าหมายที่ใช้ภาษาต่างกันอาจจะทำให้ได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเนื่องจากไม่เข้าใจภาษาซึ่งกันและกัน
     4. การสังเกต
     การรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกตนั้นแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ
     1. แบบมีส่วนร่วม (Participant observation) คือการสังเกตที่ผู้สังเกตเข้าไปมีส่วนร่วมใน กิจกรรมต่าง ๆ ที่ไปสังเกต เช่น เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนนั้น เมื่อต้องการจะศึกษาถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน
     2. แบบไม่มีส่วนร่วม (Non- participant observation) คือ การสังเกตที่ผู้สังเกตไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไปสังเกตเพียงแต่เป็นผู้สังเกตการณ์เท่านั้น
     ข้อเสนอแนะในการรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต
     1. กำหนดจุดมุ่งหมายของการสังเกตเป็นอย่างดี จุดมุ่งหมายของการสังเกตควรจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย
     2. ผู้สังเกตควรจะมีความรู้ในเรื่องที่จะไปสังเกตเป็นอย่างดี
     3. จัดเตรียมแบบสังเกตหรือแบบบันทึกข้อมูลไปให้พร้อมจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการรวบรวมข้อมูล
     4. แบ่งข้อมูลที่ไปสังเกตเป็นหมวดหมู่ ตามลักษณะของปัญหาในการวิจัยและควรสังเกตทีละอย่างไม่ควรสังเกตหลายอย่างพร้อม ๆ กันเพราะจะทำให้สับสนขาดความตรงได้
     5. ผู้ที่จะไปทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตควรจะได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี
     6. พยายามสังเกตให้เป็นปรนัยมากที่สุด ไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวเข้าไปตัดสิน
     7. เวลาจดบันทึกให้จดบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่เห็นตามสภาพความเป็นจริง อาจจะใช้อุปกรณ์บางอย่างช่วยในการสังเกตได้ เช่น เครื่องบันทึกภาพ เครื่องบันทึกภาพและเสียง เป็นต้น
     ข้อดีของการรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต
     1. สามารถใช้ในการรวบรวมข้อมูลบางอย่างได้ ในกรณีที่ไม่สามารถใช้วิธีการชนิดอื่น เช่น การศึกษาพฤติกรรมในห้องเรียน ในวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
     2. ข้อมูลที่ได้จากการสังเกตนั้นไม่ขึ้นกับความจำของผู้ถูกสังเกต เพราะเป็นการสังเกตโดยตรง ผู้สังเกตได้เห็นพฤติกรรมของผู้ถูกสังเกตโดยตรง
     3. ถ้าผู้ถูกสังเกตไม่รู้ตัวว่าถูกสังเกต จะไม่มีปัญหาในการบิดเบือนข้อมูล
     4. สามารถรวบรวมข้อมูลบางชนิดที่ผู้ถูกสังเกตไม่เต็มใจบอก หรือเป็นข้อมูลที่เป็น ความลับบางอย่าง
     5. ได้ข้อมูลบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยเพิ่มเติมในระหว่างที่สังเกต
     ข้อจำกัดของการรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต
     1. ถ้าผู้สังเกตไม่ได้รับการฝึกมาอย่างดี ความคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่ได้จากการสังเกตอาจเกิดขึ้นได้ โดยผู้สังเกตใช้ความรู้สึก หรือความคิดของผู้สังเกตเข้าไปแปลพฤติกรรมที่เห็น โดยอาศัยประสบการณ์เดิมของตนเอง
      2. ใช้เวลามากไม่เหมาะในการรวบรวมข้อมูลในกรณีที่กลุ่มประชากรเป้าหมายหรือกลุ่มตัวอย่างอยู่กระจัดกระจายและมีปริมาณมาก
     3. ถ้าผู้ถูกสังเกตรู้ตัวว่าถูกสังเกตอาจจะมีการบิดเบือนพฤติกรรมทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน
     4. อาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ทำให้ไม่มีโอกาสสังเกต
     5. เหตุการณ์บางอย่างยากที่จะสังเกตได้ เช่น กิจกรรมส่วนตัวของแต่ละบุคคล
     6. ข้อมูลบางอย่างไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ทำให้สังเกตไม่ได
     5. การใช้เทคนิคสังคมมิติ
     การรวบรวมข้อมูลด้วยการใช้เทคนิคสังคมมิตินั้นเป็นวิธีการที่ใช้ในกรณีที่ต้องการศึกษา
ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างสมาชิกในหมู่คณะ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปรับตัวทางสังคม เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากการใช้เทคนิคสังคมมิตินั้นจะช่วยให้ผู้รวบรวมข้อมูลมองเห็นฐานะทางสังคมของสมาชิกในกลุ่มว่าอยู่ในสภาพอย่างไร
การรวบรวมข้อมูลโดยใช้เทคนิคสังคมมิตินั้น ผู้รวบรวมข้อมูลจะขอให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มเขียนชื่อสมาชิกคนอื่น ๆ ที่ต้องการร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ในคณะของกลุ่มสมาชิกนั้น คำถามที่ผู้รวบรวมข้อมูลจะถามนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่ผู้วิจัยต้องการทราบ เช่น ผู้วิจัยอาจจะถามว่าสมาชิกชอบทำงานร่วมกับใครในวิชาสังคมศึกษา หรือชอบเล่นเกมต่าง ๆ ร่วมกับใคร ฯลฯ ผลที่ได้จากการทำสังคมมิติในแต่ละสถานการณ์ย่อมแตกต่างกัน
     6. การทดลอง
     การทดลอง (Experiment) เป็นวิธีรวบรวมข้อมูลซึ่งใช้กันกว้างขวางในแขนงวิชา วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันการทดองได้นำมาประยุกต์กับแขนงวิชาสังคมศาสตร์โดยเฉพาะจิตวิทยา สังคมวิทยา และแขนงวิชาสังคมศาสตร์อื่น ๆ การทดลองนับว่าเป็นวิธีเสาะแสวงหาความรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง โดยที่เราสามารถควบคุมตัวแปรและอิทธิพลต่าง ๆ ในห้องทดลองได้ แม้ว่าการจัดการทดลองนี้ส่วนมากจะใช้ในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่ก็สามารถนำวิธีการนี้มาประยุกต์ใช้ในที่ซึ่งไม่ใช่ห้องวิทยาศาสตร์ เช่น ห้องเรียน เป็นต้น
โดยนักจัดการทดลองหรือนักวิจัยพยายามควบคุมตัวแปรที่สำคัญในระดับต่าง ๆ จุดมุ่งหมายของการทดลองก็เพื่อจะหาข้อสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ ที่อาจนำไปประยุกต์ใช้กับประชากรภายนอกห้องทดลองได้ ตัวอย่างเช่น การทดลองเปรียบเทียบ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ระหว่างเด็กที่เรียนโดยวิธีฟังการบรรยายจากผู้สอนในชั้นเรียนกับเด็กที่เรียนโดยการใช้สไลด์ ในเนื้อหาเดียวกัน ในการทดลองอาจจะแบ่งกลุ่มของนักเรียน โดยวิธีสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งให้เรียนโดยวิธีการฟังบรรยาย และอีกกลุ่มให้เรียนโดยการใช้สไลด์และหลังจากสอนเนื้อหาครบตามต้องการแล้ว ก็นำคะแนนผลการทดสอบของนักเรียนมาเปรียบเทียบกัน การทดลองนี้ ต้องพยายามควบคุมตัวแปรอย่างเคร่งครัด เช่น เนื้อหาที่สอนทั้งสองกลุ่มต้องเป็นเนื้อหาเดียวกัน เวลาที่ใช้ในการเรียนการสอนอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์เป็นแบบทดสอบฉบับเดียวกัน โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า การทดลอง คือ กระบวนการค้นคว้าหาความจริงโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นการจัดสถานการณ์ที่ให้มีการสังเกต หรือรวบรวมข้อมูลได้อย่างยุติธรรมมีระบบแผนการ ขจัดความลำเอียงส่วนตัวที่พึงมีให้หมดไปหรือให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และมีการ
ควบคุมตัวแปรบางตัวที่อาจมีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์นั้น ๆ
     สิ่งที่จะต้องพิจารณาในการทดลอง
1. การเลือกผู้ทดลอง ถ้าการทดลองแบ่งเป็นหลายกลุ่มแต่ละกลุ่มควรจะมีความใกล้เคียงกันในเรื่อง เพศ อายุ อาชีพ สติปัญญา ฐานะทางสังคมและอื่น ๆ ที่อาจจะมีผลกระทบกับตัวแปรตาม
2. จำนวนผู้ถูกทดลองควรมีจำนวนใกล้เคียงกันในแต่ละกลุ่ม
3. แบบแผนของการทดลอง ควรจะได้มีการพิจารณากันอย่างดี
4. เครื่องมือเครื่องใช้ในการทดลองควรจะวิเคราะห์คุณภาพ และทดลองใช้ดูเสียก่อน
      ขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลโดยการจัดการทดลอง
     1. เลือกและกำหนดปัญหา
     2. ออกแบบการทดลอง โดยคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
        2.1 ตัวแปรต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการทดลองแต่อาจจะมีอิทธิพลต่อผลการทดลองต้องพิจารณาว่าจะควบคุมตัวแปรเหล่านี้ได้อย่างไร
        2.2 เลือกแบบแผนการทดลองให้สอดคล้องกับปัญหาที่จะทำ
        2.3 ทำการสร้างหรือคัดเลือกเครื่องมือที่จะใช้ในการทดลอง
        2.4 ทำการทดลองตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ
     3. ดำเนินการทดลอง
     4. รวบรวมข้อมูล

       ข้อดีของการรวบรวมข้อมูลโดยการทดลอง ผู้วิจัยมีโอกาสที่จะควบคุมตัวแปรเกินต่าง ๆ
ได้มากกว่าการรวบรวมข้อมูลโดยวิธีอื่น ๆ และข้อมูลที่ได้จากการทดลองนั้นสามารถที่จะใช้ตอบปัญหาเกี่ยวกับการเป็นเหตุเป็นผลได้อย่างชัดเจน
       ข้อจำกัดของการรวบรวมข้อมูลโดยการทดลอง การวิจัยทางการศึกษานั้นโอกาสที่จะ
รวบรวมข้อมูลโดยการทดลองอย่างแท้จริง (True experiment) ค่อนข้างลำบาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะกึ่งทดลอง (Quasi experiment) มากกว่า ซึ่งการรวบรวมข้อมูลในลักษณะกึ่งทดลองนั้นโอกาสที่จะมีตัวแปรเกินแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ง่าย 

รวบรวมข้อมูลโดย นิสิตสาขาการสอนภาษาจีน ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยบูรพา 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น